วันพุธที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

นวัตกรรมทางการศึกษา

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาและพัฒนารูปแบบการสอนที่ผสมผสานวิธีการสอนแบบ ภาษาศาสตร์เชิงประสาทวิทยาและแนวคิดภาษาเพื่อการสื่อสารเพื่อพัฒนาทักษะการพูดและทักษะ การเขียนภาษาฝรั่งเศสสำหรับนักเรียนช่วงชั้นที่ 4 2) ทดลองและศึกษาผลการใช้รูปแบบการสอนที่ พัฒนาขึ้น และ 3) ศึกษาปัจจัยสนับสนุนและอุปสรรคต่อการนำรูปแบบการสอนที่พัฒนาขึ้นไปใช้ การวิจัยแบ่งเป็น 2 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ 1 การศึกษาและพัฒนารูปแบบการสอนโดย ศึกษาบริบทการสอน ภาษาฝรั่งเศสที่ผู้สอนใช้ในปัจจุบันจากการสังเกตภาคสนาม ปัญหาการใช้ภาษาฝรั่งเศสของนักเรียน ช่วงชั้นที่ 4 และศึกษาแนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง นำข้อมูลที่ได้จากการศึกษามาพัฒนารูปแบบ การสอนและเอกสารประกอบรูปแบบการสอน ประเมินผลการใช้รูปแบบการสอนโดยนำไปทดลองใช้ กับกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 กลุ่มทดลองคือนักเรียนโรงเรียนวิทยาคม และ กลุ่มควบคุมคือนักเรียนโรงเรียนพัฒนศึกษา จัดกลุ่มตัวอย่างโดยวิธีการจับคู่คะแนนทักษะการพูด และทักษะการเขียนก่อนการเรียนได้นักเรียนที่มีคะแนนตรงกันจำนวน 17 คู่ ระยะเวลาในการทดลอง 10 สัปดาห์ รวม 40 ชั่วโมง วัดผลการทดลองโดยเปรียบเทียบคะแนนทักษะการพูดและทักษะการเขียน ของนักเรียนกลุ่มทดลองหลังการทดลองกับเกณฑ์ร้อยละ 60 และเปรียบเทียบคะแนนทักษะการพูด และทักษะการเขียนของนักเรียนกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมโดยใช้สถิติ t-test ระยะที่ 2 การศึกษา วิเคราะห์ปัจจัยสนับสนุนและปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการนำรูปแบบการสอนไปใช้ ผลการวิจัยสรุปได้ ดังนี้ 1. รูปแบบการสอนที่พัฒนาขึ้น ประกอบด้วย หลักการของรูปแบบการสอน คือกระบวนการเรียน รู้ภาษาที่มีประสิทธิภาพเป็นกระบวนการเรียนที่เน้นการจัดกิจกรรมผ่านประสาทสัมผัสตั้งแต่ 3 ด้าน ขึ้นไป ได้แก่ การรับรู้ทางตา ทางหู ทางสัมผัส ทางกลิ่นหรือทางรสชาติ ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ในชีวิตประจำวัน ซึ่งหมายความถึง การที่นักเรียนมีโอกาสได้ใช้ภาษาในการสื่อสารใช้ภาษาพูด และเขียนโต้ตอบกันและกันอย่างมีความหมายและตรงกับความสนใจ สนองตอบความต้องการที่ สอดคล้องกับประสบการณ์และวัยที่แท้จริงของนักเรียน วัตถุประสงค์ของรูปแบบการสอนเพื่อเสริม สร้างทักษะการใช้ภาษาฝรั่งเศสซึ่งประกอบด้วยทักษะการพูด และทักษะการเขียนของนักเรียน ช่วงชั้นที่ 4 กระบวนการเรียนการสอนมี 5 ขั้นตอน ได้แก่ 1) ขั้นกำหนดเป้าหมายในการเรียนรู้ 2) ขั้นการเรียนรู้ภาษาขั้นพื้นฐานเพื่อการสื่อสาร 3) ขั้นการเชื่อมโยง 4) ขั้นแสดงผลงาน และ 5)ขั้นประเมินความสามารถในการใช้ภาษาของนักเรียน การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของรูปแบบการสอนที่พัฒนาขึ้น ใช้แบบทดสอบทักษะการพูด ประกอบด้วย แบบทดสอบความสามารถในการเลือกถ้อยความที่เหมาะสมในสถานการณ์ต่างๆ และแบบทดสอบทักษะการเขียนใช้แบบสอบอัตนัยที่ให้นักเรียนเขียนเรื่องโดยใช้ภาพการ์ตูนเป็นสื่อในการเขียน 2.ผลของการทดลองใช้รูปแบบการสอนดังนี้ 2.1ค่าเฉลี่ยคะแนนทักษะการพูดภาษาฝรั่งเศสของนักเรียนกลุ่มทดลองที่เรียนด้วยรูปแบบการสอนสูงกว่าเกณฑ์ร้อยละ60อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05 2.2 ค่าเฉลี่ยคะแนนทักษะการเขียนภาษาฝรั่งเศสของนักเรียนกลุ่มทดลองที่เรียนด้วยรูปแบบการสอนต่ำกว่าเกณฑ์ร้อยละ 60อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05 2.3 ค่าเฉลี่ยคะแนนทักษะการพูดและทักษะการเขียนภาษาฝรั่งเศสหลังการทดลองของนักเรียนกลุ่มทดลองที่เรียนด้วยรูปแบบการสอนสูงกว่ากลุ่มควบคุมที่เรียนโดยใช้การสอนแบบปกติอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05 3. การศึกษาปัจจัยในการนำรูปแบบการสอนไปใช้ พบว่า 1)ปัจจัยสนับสนุน ประกอบด้วย ด้านนักเรียน ได้แก่ ความรู้พื้นฐาน การให้ความร่วมมือ ความต้องการในการพัฒนาตนเองของนักเรียน ด้านการเรียนการสอน ได้แก่ การจัดกิจกรรมที่นักเรียนคุ้นเคย สอดคล้องกับความต้องการ ประสบการณ์และวัยของนักเรียน ปฏิสัมพันธ์แบบการสื่อสาร 2 ทางระหว่างครูกับนักเรียน การเน้นให้นักเรียนปฏิบัติกิจกรรมผ่านประสาทสัมผัสตั้งแต่ 3 ด้านขึ้นไป การประเมินผลตนเองและการประเมินเพื่อนตามเป้าหมายในการเรียนรู้ที่กำหนดไว้ก่อนการเรียน ด้านบริบทสิ่งแวดล้อม ได้แก่ จำนวนนักเรียนต่อห้องเรียน การสนับสนุนจากผู้บริหารโรงเรียนและครูประจำวิชา 2) ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคประกอบด้วย ความไม่พร้อมทางด้านเศรษฐกิจของนักเรียนบางคน ภาระงานจากการเรียนวิชาอื่น ความไม่พร้อมทางด้านบริหารจัดการขององค์การในด้านสื่อการเรียนการสอนและการเข้าประเมินโรงเรียนของคณะผู้ประเมินจากส่วนกลาง มีผลให้การเรียนการสอนหยุดชะงัก

เอกสารอ้างอิง
ศศิวรรณ พชรพรรณพงษ์. (2548). การพัฒนารูปแบบการสอนที่ผสมผสานวิธีการสอนแบบภาษาศาสตร์เชิงประสาทวิทยาและแนวคิดภาษาเพื่อการสื่อสารเพื่อพัฒนาทักษะการพูดและทักษะการเขียนภาษาฝรั่งเศสสำหรับนักเรียนช่วงชั้นที่ 4. กรุงเทพมหานคร : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผลการเรียนรู้ในสัปดาห์ที่ 2
1. ผู้บริหารต้องมีความรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการบริหารองค์กรให้เกิดประโยชน์คุ้มค่ามากที่สุด เพื่อให้องค์กรเจริญก้าวหน้าและการดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมั่นคง
2. รู้ความหมายของคำว่านวัตกรรม นวัตกรรมทางการศึกษา รู้จักองค์ประกอบ ประเภท หลักการ ความสำคัญและแนวโน้มการสร้างรวมทั้งการใช้นวัตกรรมใหม่ในสถานศึกษาและองค์กรต่างๆ
3. สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาเป็นเครื่องมือ ในการแสวงหาความรู้ ค้นหา จัดเก็บ แลกเปลี่ยน และเกิดกระบวนการเรียนรู้ โดยนำความรู้มาใช้อย่างคุ้มค่าเพื่อให้เกิดประโยชน์และประสิทธิภาพในการทำงาน
4. สามารถสร้างนวัตกรรมสื่อการเรียนการสอน เช่น Webblog มาใช้ในระบบการศึกษา ทำให้กระบวนการเรียนรู้เป็นไปอย่างรวดเร็ว เกิดแรงจูงใจในการเรียนและประหยัดเวลา
5. สามารถปรับตัวและปฏิบัติตนเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ ให้ทันต่อการเปลี่ยน แปลงและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศ
6. นำความรู้ที่ได้มาพัฒนาตนเองและเผยแพร่ต่อโดยการช่วยสอนและแนะนำเพื่อนร่วมงานให้สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เช่นการสมัคร e – mail ,การสร้าง Webblog, การสืบค้นแหล่งข้อมูลทาง Internet , การจัดรูปแบบเอกสาร,การเขียนเอกสารอ้างอิงในรูปแบบที่ถูกต้องและการเผยแพร่งานทาง Webblog

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น